ทำไมเจ้าของกิจการต้องรู้เรื่องบัญชี ภาษี กฎหมาย

สรุปประเด็นสำคัญ ทั้งทางธุรกิจ และข้อกฎหมายว่าทำไม มันคือ “หน้าที่”

อยากเล่นเกมให้เก่งกว่าคนอื่น ต้องเข้าใจกติกามากกว่าคนทั่วไป

คุณรู้หรือไม่ว่า กฎหมายมีข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการลดหย่อนภาษี มากกว่าข้อบังคบที่บอกให้เราเสียภาษีซะอีก ซึ่งถ้าคุณไม่รู้ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะว่าปกติแล้วคนที่รู้เขาก็คงไม่ได้เดินมาบอกคุณโดยง่ายๆ โอกาสจึงเป็นของคนที่เข้าใจ และรู้เงื่อนไขกติการพิเศษเสมอ

คุณรู้หรือไม่ว่า บางครั้งบางรัฐก็ออกข้อเสนอให้ เจ้าของธุรกิจในรูปแบบริษัทสามารถขอกู้เงินจากธนาคารของรัฐด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำถึง หนึ่งเปอร์เซ็น (1%) ต่อปี ซะด้วยซ้ำ เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข และลงทะเบียนภายในระยะเวลาที่กำหนด

บางทีคุณอาจจะคิดว่า มันไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย ทำไมบริษัทยักษ์ใหญ่ถึงสามารถใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆมากมายของภาครัฐได้อย่างเต็มที่ ขณะที่คนทำธุรกิจตัวเล็กๆ กลับไม่รู้อะไรเลยสักอย่าง แต่ถ้ามองกันในอีกมุมหนึ่งก็คือ กฎหมายที่ประกาศบังคับใช้นั้นก็มีให้อ่านโดยทั่วไปที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ อย่างไรก็ตามก็คงจะมีน้อยคนนักที่นั่งเฝ้าข้อกฎหมายออกใหม่ตลอดเวลา หรือ นั่งอ่านเรื่องพวกนี้จริงจังกันทั้งวัน

แต่ก็ต้องเป็นที่ยอมรับว่า โอกาส และสิทธิประโยชน์ทางธุรกิจ มักจะตกเป็นของคนที่รู้จักโอกาสนั้นมากกว่าคนที่ไม่รู้เสมอ การที่เจ้าของธุรกิจนั้นติดตามข่าวสาร เข้าใจเงื่อนไขทางการเงิน และมีความพร้อมในด้านบัญชี และภาษี ย่อมทำให้โอกาสที่จะเติบโตของธุรกิจมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถ้าคุณไม่เชื่อ คุณลองถามนักธุรกิจที่คุณนับถือว่าเก่งกาจสักคนดูสิ คุณจะรู้ว่าถ้าเขาไม่ได้รู้จักข้อมูลพวกนี้ด้วยตัวเอง เขาก็จะมีที่ปรึกษาที่คอยชี้แนะพวกเขาอยู่เสมอเช่นกัน

ราคาของคำว่า ไม่รู้

หากคุณว่าการที่เป็นเจ้าของกิจการแล้วไม่จำเป็นต้องเข้าใจพื้นฐานเรื่อง บัญชี ภาษี หรือ กฎหมาย สักนิดเลยละกัน โปรดระวัง และอย่าได้ประมาทไป คุณอาจจะได้บทเรียนราคาแพงของคำว่า “ไม่รู้” ก็เป็นได้

บัญชี ภาษี ก็เปรียบเสมือนภาษาสากลของธุรกิจ ซึ่งใช้กันทั่วโลก ใครที่สามารถอ่านงบการเงินได้ ก็สามารถทำความรู้จักเบื้องต้นของธุรกิจที่คุณไม่เคยรู้จักมากก่อนเป็นการส่วนตัวได้เลยเช่นกัน ไม่ว่าคุณจะพูดคุยกับ นักลงทุน ธนาคาร หุ้นส่วน และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ทุกคนย่อมอย่างรู้ความเป็นไปทางธุรกิจด้วยภาษาสากลอย่างแน่นอน แล้ววันนี้คุณฟัง อ่าน เขียนได้แล้วหรือยังกับภาษาทางธุรกิจในวันนี้

ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมาย คือ กติกาที่ใช้ร่วมกันในสังคม ซึ่งการทำธุรกิจก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายเช่นกัน กฎหมายนอกจากจะปกป้องสิทธิ์ของธุรกิจแล้วนั้นก็ยังมีบทลงโทษมากมายหากคุณไม่ได้ทำตามเงื่อนไขที่กำหนด

พ.ร.บ. บัญชี

หากคุณเป็นเจ้าของบริษัท อย่างน้อยที่สุดคุณน่าจะลองศึกษาข้อกำหนดใน พระราชบัญญัติการบัญชี (พ.ร.บ. บัญชี) ดูสักครั้ง อย่างน้อยคุณจะได้รู้ว่าคุณได้ทำตามเงื่อนไขขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ แม้ว่าคุณจะไม่ได้เป็นคนทำบัญชีด้วยตัวเอง หรือ จะจ้างสำนักงานบัญชีทำบัญชีให้ก็ตาม เพราะว่าบทโทษยังมีกำหนดให้ถึงทั้งขั้นจำคุก และปรับเงินด้วย เสียเวลาศึกษา หรือ หาคนที่รู้เรื่องพวกนี้อธิบายให้คุณเข้าใจสักหน่อยจะได้มั่นใจว่าไม่พลาดแน่ๆ 

ประมวลรัษฎากร

กฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร และระบุข้อบังคับต่างๆนานาให้ทั้งบุคคล และธุรกิจต้องเสียภาษีภายในประเทศไทยเกือบทั้งหมดอยู่ในกฎหมายที่ชื่อ ประมวลรัษฎากร ซึ่งสรรพากรนำมาบังคับอยู่เป็นประจำ ข่าวดีก็คือ ถ้านั่นคือดาบของสรรพากร จริงๆแล้วก็คือ โล่ ของผู้เสียภาษี เช่นกัน

คุณไม่จำเป็นต้องนั่งอ่าน ประมวลรัษฎากร ทั้งเล่มเพื่อเข้าใจเรื่องภาษีหรอก สิ่งที่คุณในฐานะเจ้าของธุรกิจควรรู้เป็นอย่างน้อยก็คือ การเลือกใช้ประโยชน์จากมันซะมากกว่า รู้จักการค้นหาข้อหารือ รู้โครงสร้าง และข้อบังคับพื้นฐานในการใช้งานบ้าง ก็เหมือนเวลาขับรถแล้วเจอสี่แยกไฟแดงนั่นแหละ ให้อย่างน้อยรู้ว่า ไฟเขียว ไฟเหลือง ไฟแดง คืออะไร ถ้าขับรถชน จะเรียกประกันทำยังไงได้บ้าง

คนที่ไม่เคยเปิดประมวลรัษฎากรดูเลยสักครั้ง หรือ เข้าไปดูข้อหารือกรมสรรพากร เวลาเจอเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้าหาทีเดียวก็กลัวจนขาสั่นทำอะไรไม่ถูก ถ้าโชคร้ายยิ่งไปกว่านั้นอาจโดนหลอกจากพฤติกรรมมิชอบของเจ้าพนักงานเองได้ด้วยซ้ำ แค่เพียงเพราะเราไม่รู้

สิ่งที่อยากฝากไว้ก็คือ มีปัญหาเรื่องภาษี ให้ถามคนที่รู้เรื่องดีที่สุด ซึ่งก็คือ กรมสรรพากรเอง คุณลองเอาปัญหาของคุณโทรถาม Call Center ดูได้เลย ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้ากลัวนักก็ลองหาที่ปรึกษาเรื่องภาษีดีๆสักคน ใครก็ได้ที่เขาไม่ได้เก่งแค่แนะนำให้คุณไปจ่ายใต้โต๊ะ หรือ ยอมสรรพากรไป โดยไม่ได้อ้างอิงข้อบังคับอะไรเลยใน ประมวลรัษฎากร เพราะบางทีคุณอาจไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเรื่องนั้นเลยก็เป็นได้

กฎหมายแรงงาน

ธุรกิจ ก็คล้ายๆกับการเล่นกีฬา เว้นเสียแต่ว่าเป็นกีฬาต้องเล่นเป็นทีม และที่ไหนมีคน ที่นั่นก็สามารถมีปัญหาเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และปัญหาพื้นฐานที่เจ้าของธุรกิจทุกคนต้องเคยเจอ ก็คือ เรื่องของคน โดยเฉพาะพนักงานของธุรกิจคุณเอง

เจ้าของธุรกิจควรจะมี สัญญาว่าจ้าง และเงื่อนไข ข้อบังคับที่ชัดเจน และเป็นไปตามกฎหมาย หากข้อตกลงขัดต่อข้อกฎหมาย จะถูกทำให้เป็นโมฆะได้ นอกจากนี้การที่หลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น ก็จะทำให้อัตราการโดนฟ้องร้องเมื่อเกิดปัญหาขึ้นน้อยลงไปด้วย

แม้เรื่องพวกนี้อาจจะเป็นหน้าที่ของฝ่ายบุคคลที่ต้องคอยดูแล แต่หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก คุณก็ควรรู้พื้นฐานกฎหมายพวกนี้เอาไว้บ้าง ไม่เช่นนั้นคุณอาจจะโดนคนที่คุณทำงานมาด้วยกันกลับมาฟ้องร้องดำเนินคดีกับคุณเองก็เป็นได้

ทรัพย์สินทางปัญญา

ศาลสูงของสหรัฐอเมริกาได้พิพากษาให้ “รองศาสตราจารย์ ดร.วีระ บุญจริง” ชนะคดีละเมิดสิทธิบัตร Siri ให้ APPLE จ่าย 25 ล้านดอลลาร์ คุณเคยอ่านข่าวนี้บ้างไหม ?

หลายคนได้ทำการออกแบบสินค้า หรือ บริการมาอย่างยากลำบาก แต่พริบตาเดียวก็อาจจะกลายเป็นของของคนอื่นได้ หน้าที่ในการสร้างนวัตกรรม หรือ ข้อเสนอที่น่าสนใจให้กับลูกค้าอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของธุรกิจ อย่างไรก็ตามการรักษา และปกป้องสิ่งที่ได้สร้างเอาไว้นั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน

กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญหามีรายละเอียดค่อนข้างมาก และหลากหลาย รวมไปถึงการครอบคลุมดูแลในพื้นที่ต่างๆที่แตกต่างกัน เช่น ภายในประเทศ หรือ ต่างประเทศ และยังมีเหลือระยะเวลาสิทธิ์ที่คุ้มครองอีกด้วย

หากธุรกิจของคุณมีเรื่องราวที่ต้องเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญหา อย่าใจเย็นคิดว่าไม่เป็นไรเอาไว้ก่อน เพราะบางทีวันพรุ่งนี้ก็อาจจะสายไปซะแล้ว

เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย

ไม่มีใครเริ่มต้นธุรกิจด้วยความคิดที่ต้องการจะเจ๊ง หรือ ขาดทุนตั้งแต่วันแรก แต่ความประมาทก็สาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่ทำธุรกิจไปต่อไม่ได้เช่นกัน

การวางแผนธุรกิจ และการเริ่มต้นธุรกิจที่ดีนั้นควรจะมีการมองภาพรวมอย่างครบถ้วนในหลายๆด้าน บางเรื่องอาจจะไม่จำเป็นต้องทำทันที แต่ก็ควรรู้ว่าสุดท้ายก็จะต้องทำ ซึ่งต่างกับการไม่รู้อะไรเลย

จริงๆแล้วคุณในฐานะนักธุรกิจ และเจ้าของกิจการก็อาจไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งหมดหรอก แต่ก็อย่าลืมหาที่ปรึกษาในเรื่องต่างๆที่คุณรู้สึกไว้ใจ และเชื่อถือได้

การตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างหนึ่งที่หลายๆคนมักจะทำก็คือ ไม่เข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องทำ และหาผู้ให้บริการ หรือว่าจ้างบุคคลที่เสนอราคาถูกที่สุด โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ และความเป็นมืออาชีพในการทำงาน ซึ่งอาจสร้างปัญหาที่จะตามมาให้คุณในวันหลังอีกเช่นกัน

มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าคุณคิดว่าการจ้างมืออาชีพนั้นราคาแพงแล้ว ก็ลองไปจ้างมือสมัครเล่นดูสิ” 😀

ถ้าคุณคือคนที่ใช่…อย่ารอช้า!

พวกเราให้คำปรึกษาได้เพียง 10 เคส ต่อเดือนเท่านั้น

คลิกที่ปุ่ม เพื่อตรวจสอบว่าเรายังเปิดรับสมัครเคสเพิ่มในเดือนนี้หรือไม่
หมายเหตุ : การลงทะเบียนเพื่อรับคำปรึกษา ไม่ได้การันตีว่าจะได้ใช้บริการของเราทั้งหมด

error: Content is protected !!